การตั้งวัตถุประสงค์

การเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัย(Research Objectives)
เมื่อกำหนดคำถามวิจัยได้แล้ว ผู้วิจัยจึงตั้งวัตถุประสงค์ของการวิจัย วันนี้จึงรวบรวมหลักการ วิธีการ เขียนวัตถุประสงค์การวิจัย และข้อควรระวัง มาเสนอไว้ดังนี้ค่ะ
        วัตถุประสงค์ของการวิจัย(Research Objectives) หรือบางท่าน สถาบันกำหนดรุปแบบโดยใช้คำว่า จุดมุ่งหมายการวิจัย (Research purposes) ในการเขียนรายงานวิทยานิพนธ์
        สิทธิ์  ธีรสรณ์ (2552, หน้า 60) กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการวิจัย(Research Objectives) หรือ จุดมุ่งหมายการวิจัย (Research purposes) เป็นการระบุกิจกรรมหรืองานที่ผู้วิจัยต้องทำ ในอันที่จะได้มาซึ่งคำตอบในการวิจัย
       สิน พันธุ์พินิจ(2553, หน้า 74) กล่าวถึงการกำหนดวัตถุประสงค์การวิจัย ไว้ว่า วัตถุประสงค์การวิจัยเป็นเสมือนเข็มทิศการดำเนินการวิจัย ช่วยให้เราทราบว่าเราจะค้นหาคำตอบอะไรจากข้อคำถามบ้าง การกำหนดวัตถุประสงค์การวิจัยก็เป็นการจำแนกประเด็นการวิจัย หรือตัวแปรออกมาให้เห็นเป็นข้อย่อยที่ชัดเจน มีความเป็นวัตถุวิสัย และสามารถดำเนินการวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม
 หลักการเขียนวัตถุประสงค์การวิจัย
       นงลักษณ์  วิรัชชัย และคณะ (2535, หน้า 55,61) กล่าวว่า การเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ การบอกเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่นักวิจัยต้องการค้นคว้าหาข้อเท็จจริง วัตถุประสงค์ของการวิจัยจึงมีลักษณะใกล้เคียงกับปัญหาวิจัยแต่ไม่เหมือนกันทีเดียว เพราะนักวิจัยส่วนใหญ่นิยมเขียนวัตถุประสงค์เป็นเป้าหมายรวม   สิ่งที่ควรระวังในการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ ต้องเขียนสิ่งที่เป็นเป้าหมาย  มิใช่สิ่งที่เป็นวิธีการดำเนินงานวิจัย การเขียนต้องใช้ภาษาที่ง่าย สั้น กะทัดรัดและสื่อความได้แจ่มกระจ่าง เช่น
“เพื่อประมวลปัญหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนจากการรับรู้ของผู้บริหาร อาจารย์และนักเรียน ในโรงเรียนประถมศึกษา”
 การเขียนวัตถุประสงค์นี้ ยังไม่ถูกต้อง ใช้คำที่ระบุวิธีการมากว่าคำที่แสดงถึงเป้าหมาย
        วรรณี  แกมเกตุ (2551, หน้า 64-65) ให้หลักการเขียนวัตถุประสงค์การวิจัย ไว้ว่า ควรเขียนในรูปประโยคบอกเล่า โดยขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “เพื่อ” แล้วตามด้วยคำที่แสดงพฤติกรรมในการแสวงหาคำตอบและสาระหลักที่ต้องการศึกษา คำบางคำก็ยังกว้างและคลุมเครือ เช่น คำว่า”ศึกษา” เช่น
เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในของโรงเรียน
 เพราะคำนี้มีความหมายกว้างครอบคลุมพฤติกรรมการศึกษาได้หลายลักษณะ นอกจากนี้ยังมีคำกริยาอื่นๆที่แสดงพฤติกรรมในการดำเนินงานของนักวิจัยอีกหลายคำที่มักปรากฏอยู่ในวัตถุประสงค์ของการวิจัย เช่น  สำรวจ  ประเมิน ค้นคว้า จำแนก วิเคราะห์  ทดลอง เป็นต้น
 
       สิทธิ์  ธีรสรณ์ (2552, หน้า 60) กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการวิจัยควรเป็นข้อความสั้นๆ ประโยควัตถุประสงค์ของการวิจัยมักขึ้นต้นด้วยวลี ดังต่อไปนี้
  • เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มี/ส่งผล/อิทธิพล/ผลกระทบ...
  • เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่าง...กับ...
  • เพื่อเปรียบเทียบ...กับ...
  • เพื่อศึกษาอิทธิพลของ…ที่มีต่อ...
  • เพื่อตรวจสอบ...ตามเกณฑ์ที่สร้างขึ้น
  • เพื่อพัฒนา...
 
       ชูศรี  วงศ์รัตนะ (2549, หน้า18) กล่าวว่า เป็นข้อความที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา ควรเห็นให้ชัดเจนว่าจะศึกษาเรื่องอะไร กับใคร ในแง่มุมใด โดยทั่วไปนิยมเขียนเป็นประโยคบอกเล่าเป็นข้อๆเรียงตามลำดับ  หัวใจของการวิจัยอยู่ที่วัตถุประสงค์ของการวิจัยต้องสอดคล้องกับหัวข้อวิจัย ส่วนอื่นๆของเค้าโครงวิจัย ตั้งแต่ความสำคัญของการวิจัย นิยามศัพท์เฉพาะ ตลอดจนถึงสถิติที่ใช้ในการวิจัย ต้องยึดวัตถุประสงค์ของการวิจัยเป็นหลัก
        องอาจ นัยพัฒน์ (2551, หน้า 43) ได้ให้หลักการเขียนวัตถุประสงค์การวิจัยเชิงปริมาณที่ดีควรคำนึงหลักการสำคัญ ต่อไปนี้
1. มีความกะทัดรัดชัดเจน
2. อยู่ในกรอบหรือสอดคล้องกับโจทย์หรือหัวข้อปัญหาการวิจัย
3. มีความเป็นไปได้จริงในแง่ของการปฏิบัติ
4. ระบุจุดมุ่งเน้นที่ต้องการสืบค้นหาคำตอบอย่างเฉพาะเจาะจงและไม่มีสาระสำคัญซ้ำซ้อนกัน
5. มีการเรียงลำดับจุดมุ่งเน้นของการศึกษาวิจัยตามความเกี่ยวข้องอย่างเป็นระดับลดหลั่นกัน
6. ใช้ถ้อยคำกล่าวพาดพิงถึงประเภท หรือรูปแบบของวิธีการศึกษาวิจัยที่ใช้ในการแสวงหาความรู้ความจริง เช่น การพรรณนา การสำรวจ  การหาความสัมพันธ์ และการทดลอง เพื่ออธิบายและ/หรือทำนายพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ที่สนใจ
สรุปแนวทางการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัย มีดังนี้
  • วัตถุประสงค์เขียนในรูปเป้าหมายการวิจัย ไม่ใช่วิธีการ
  • วัตถุประสงค์สอดคล้องกับชื่อโครงการวิจัย
  • ถ้าตอบคำถามวิจัยครบทุกข้อ การวิจัยจะได้ผลตามวัตถุประสงค์ที่เขียนไว้
  • ไม่มีคำฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็นในวัตถุประสงค์
  • วัตถุประสงค์ชัดเจน ไม่กำกวม
 
       วรรณี  แกมเกตุ (2551, หน้า 64-65)  กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการวิจัยที่ดีควรมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
1. ต้องมีความสอดคล้องกับชื่อเรื่องและมีความสืบเนื่องจากความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
2. มีความชัดเจนว่าต้องการศึกษาอะไร
3. วัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อ ต้องสามารถศึกษาหาคำตอบได้
4. ควรเขียนให้อยู่ในรูปประโยคบอกเล่า
5. ควรเป็นข้อความที่สั้น กะทัดรัด และใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย
6. ควรจัดเรียงวัตถุประสงค์ตามลำดับของการศึกษา หรือเรียงลำดับตามความสำคัญหรือจุดเน้นก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการวิจัยแต่ละเรื่อง
 
ข้อควรระวังในการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัย
ข้อควรระวังในการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัย ก็คือ ไม่นำเอาประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มาเขียนเป็นวัตถุประสงค์ของงานวิจัย  ดังนี้
       วรรณี  แกมเกตุ (2551, หน้า 65) เสนอข้อควรระวังในการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยว่า ไม่ควรที่จะนำเอาประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัยมาใช้ในการเขียน แม้ว่าทั้งสองเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกัน แต่ก็มีความแตกต่างกัน โดยที่วัตถุประสงค์ของการวิจัย คือประเด็นที่จะทำการวิจัย ส่วนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการคาดหมายถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการนำผลการวิจัยที่ทำเสร็จแล้วไปใช้
      ชูศรี  วงศ์รัตนะ (2549, หน้า18) กล่าวว่า ในงานวิจัยหลายเรื่อง มักมีวัตถุประสงค์การวิจัยข้อสุดท้ายว่า “เพื่อเป็นแนวทางในการนำผลการวิจัยที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ” ข้อความนี้ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการวิจัย แต่เป็นความสำคัญของการวิจัยหรือประโยชน์ที่จะได้รับ
       สิทธิ์  ธีรสรณ์ (2552, หน้า 61) กล่าวว่า ในการเขียนวัตถุประสงค์นั้น ไม่ควรนำประโยชน์ที่ได้รับมาเขียน เพราะไม่ใช่กิจกรรมหรืองานที่ผู้วิจัยต้องทำเพื่อให้ได้ผลวิจัย เช่น
เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการวางแผนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
 
วัตถุประสงค์ในตัวอย่าง ไม่ใช่การเขียนที่เหมาะสมนัก เพราะเป็นประโยชน์ที่ได้จากงานวิจัยในแง่การวางแผนหรือปฏิบัติงานเมื่อนำผลการวิจัยไปใช้มากกว่าเป็นกิจกรรมที่ผู้วิจัยต้องทำ จึงไม่ควรนำมาเขียนเป็นวัตถุประสงค์
 
เอกสารอ้างอิง
ชูศรี  วงศ์รัตนะ. (2549). เทคนิคการเขียนเค้าโครงการวิจัย : แนวทางสู่ความสำเร็จ. นนทบุรี : ไทยเนรมิต.
นงลักษณ์  วิรัชชัย และคณะ. “คู่มือการเขียนโครงการวิจัย”. วารสารการวัดผลการศึกษา. ปีที่ 12 ฉบับที่ 35
                 (ก.ย.-ธ.ค. 35).
วรรณี  แกมเกตุ. (2551). วิธีวิทยาการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 2).กรุงเทพมหานคร :
               โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สิทธิ์  ธีรสรณ์. (2552). เทคนิคการเขียนรายงานวิจัย. (พิมพ์ครั้งที่ 3).  กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์
                แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สิน พันธุ์พินิจ. (2553). เทคนิคการวิจัยทางสังคมศาสตร์. กรุงเทพมหานคร : วิทยพัฒน์.
องอาจ นัยพัฒน์. (2551). วิธีวิทยาการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพทางพฤติกรรมศาสตร์และ
               สังคมศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 3).  กรุงเทพมหานคร : สามลดา.