รำโทน
เอกสารประกอบการสอนรายวิชา ศ21101 ศิลปะ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 รำแบบพื้นบ้าน เรื่อง รำโทน
.........................................................................................................................................
เพลงรำโทน
รำโทน เป็นการละเล่นของชาวบ้านเพื่อสร้างความรื่นเริง สนุกสนาน
โดยรำเป็นคู่ล้อมเป็นวงประกอบเสียงโทนหรือ โทนชาตรี ซึ่งตีประกอบการรำเป็นจังหวะ
“ ป๊ะ โทน ป๊ะ โทน ป๊ะ โทน โทน” เป็นที่มาของชื่อ “รำโทน”
ส่วนท่าทางในการรำนั้นไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ผู้รำจะรำด้วยท่าทางอย่างไรก็ได้
บทร้องเพลงรำโทนที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีตัวอย่างดังนี้
เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด
ใกล้เข้าไปอีกนิด ชิดชิดเข้าไปอีกหน่อย
สวรรค์น้อยน้อย อยู่ในวงฟ้อนรำ
รูปหล่อขอเชิญมาเล่น เนื้อเย็นขอเชิญมารำ
มองมานัยน์ตาหวานฉ่ำ ( ซ้ำ ) มะมารำกับพี่นี่เอย
เพลงหล่อจริงนะดารา
หล่อจริงนะดารา งามตาจริงแม่สาวเอย
วันนี้ฉันมีความสุข สนุกรื่นเริงหัวใจ
ที่นี่เป็นแดนสวรรค์ เธอกับฉันมาเล่นคองก้า ( ซ้ำ )
เพลงตามองตา
ตามองตา สายตาเมื่อจ้องมองกัน
รู้สึกเสียวซ่านหัวใจ รักฉันก็ไม่รัก
หลงฉันก็ไม่หลง ฉันยังอดโค้งเธอไม่ได้
เธอช่างงามวิไล เหมือนดอกไม้ที่เธอถือมา
เพลงยวนยาเหล
ยวนยาเหล ยวนยาเหล
หัวใจว้าเหว่ ไม่รู้จะเหไปหาใคร
จะซื้อเปลยวน ที่ด้ายหย่อนหย่อน (ซ้ำ)
จะเอาน้องนอน ไกวเช้าไกวเย็น
เพลงช่อมาลี
ช่อมาลี คนดีของพี่ก็มา
สวยจริงหนา เวลาค่ำคืน (ซ้ำ)
โอ้จันทร์ไปไหน ทำไมจึงไม่ส่องแสง
เดือนมาแฝงแสงสว่าง เมฆน้อยลอยมาบัง
เมฆน้อยลอยมาบัง แสงสว่างก็จางหายไป
เมื่อการแสดงรำโทนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ผู้นำรัฐบาลในสมัยนั้น
จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรปรับปรุงการแสดงรำโทนให้เป็นแบบแผนทั้งเนื้อร้อง ดนตรีและท่ารำประกอบเพลง
ทั้งนี้เพื่อให้การแสดงเป็นมาตรฐานพอที่จะนำเสนอต่อนานาอารยประเทศได้ว่า นี่คือ ศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย
แขนงหนึ่ง และเรียกชื่อการแสดงว่า “รำวงมาตรฐาน”