การแสวงหาความรู้

การแสวงหาและตรวจสอบความรู้

ขั้นตอนสำคัญในการทำวิจัย หลังจากได้ปัญหา วัตถุประสงค์และสมมติฐานในการวิจัยแล้ว ขั้นตอนที่สำคัญตามมา คือ การเก็บรวบรวมข้อมูล การตรวจสอบข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล

การเก็บรวบรวมข้อมูล คือการที่ผู้วิจัยพยายามรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ นำมาพิจารณา วิเคราะห์

วิจารณ์ แล้วสรุปผลมาเป็นคำตอบปัญหาการวิจัยว่าเป็นไปตามที่ได้ตั้งสมมติฐานไว้หรือไม่ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล มีวิธีการหลายอยางเช่น เก็บรวบรวมข้อมูลโดยตรงจากผู้ให้ข้อมูล รวบรวมข้อมูลที่มีอยู่เดิมแล้ว หรือใช้ผู้สังเกตการณ์เก็บรวบรวมข้อมูล หรือใช้วิธีการหลาย ๆ วิธีรวมกัน

ขั้นตอนสำคัญของการรวบรวมข้อมูล

การรวบรวมข้อมูลทางพฤติกรรมศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมข้อมูลภาคสนาม แบ่งได้เป็น 6 ขั้นตอน ตามที่บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ ( 2540 ) แบ่งไว้ ดังนี้

1. กำหนดตัวแปรที่ต้องการศึกษา ที่สำคัญ คือ ต้องทราบว่าอะไร คือตัวแปรอิสระ ตัวแปรตาม ตัวแปรควบคุม การวัดตัวแปรแต่ละตัววัดอย่างไร มีระดับการวัดของตัวแปรคืออะไร ตัวแปรและตัวมีความหมายอย่างไร ต้องนิยามความหมายเชิงปฏิบัติการให้ชัดเจนให้สามารถวัดได้

2. กำหนดข้อมูลหรือตัวชี้วัด จากตัวแปรที่ศึกษาจะต้องระบุข้อมูลและลักษณะของข้อมูลที่ต้องการว่ามีลักษณะอย่างไร ที่ตรงกับสภาพความเป็นจริง ควรสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หรือปัญหาและขอบเขตของการวิจัย

3. กำหนดแหล่งข้อมูล ต้องการข้อมูลหรือรวบรวมข้อมูลมาจากที่ไหนบ้างผู้ให้ข้อมูลเป็นใคร อยู่ที่ไหนเป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิหรือทุติยภูมิ

4. เลือกวิธีรวบรวมข้อมูล ต้องวางแผนในวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างรอบคอบรวมทั้งคำนึงถึงขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสม ซึ่งวิธีการเก็บข้อมูลจำเป็นต้องเลือกเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บว่ามีอะไร ถ้ามีแล้วก็สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะกับงานวิจัยที่ทำ ถ้าไม่มีก็ต้องสร้างเครื่องมือขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องคำนึงถึงหลักในการสร้างเครื่องมือที่ดี

5. นำเครื่องมือรวบรวมข้อมูลไปทดลองใช้ ในการใช้เครื่องมือรวบรวมข้อมูลไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือที่มีอยู่แล้วหรือเครื่องมือที่สร้างขึ้นเอง ควรมีการทดลองใช้กับกลุ่มที่ใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่มากก่อนเพื่อดูข้อบกพร่องต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เครื่องมือและผู้วิจัยเองต้องนำเครื่องมือไปปรับปรุงแก้ไขหรืออาจจะต้องสร้างใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับงานวิจัยที่ทำ เพื่อให้เกิดคุณภาพของเครื่องมือวิจัย ที่สำคัญ คือจะต้องมีความตรงและความเที่ยงของเครื่องมือ

6. ออกรวบรวมข้อมูล ขั้นตอนนี้เป็นการออกภาคสนาม ต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดีว่าจะเก็บข้อมูลอย่างไร คนเดียว หรือหลายคน ต้องมีการอบรมผู้เก็บข้อมูลในกรณีที่ใช้ผู้เก็บหลายคน ที่สำคัญต้องมีการประสานงานเพื่อให้แหล่งที่ต้องการเก็บข้อมูลยินยอม

วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล มีหลายวิธีที่ใช้กันมากในทางพฤติกรรมศาสตร์ ได้แก่

•  การสัมภาษณ์โดยตรง

ผู้วิจัยไปทำการสัมภาษณ์จากหน่วยทดลองโดยตรง วิธีนี้ใช้กันมากในการทำสำมะโนและการสำรวจจากตัวอย่าง วิธีนี้เหมาะสำหรับงานวิจัยที่มีข้อคำถามเป็นจำนวนมาก ข้อคำถามมีความซับซ้อนมีคำศัพท์เฉพาะและมีคำจำกัดความที่ต้องการคำอธิบาย แต่เป็นวิธีที่เสียค่าใช้จ่ายสูง

•  การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

ในกรณีที่คำถามไม่มากและไม่ซับซ้อน ปริมาณคำถามมีไม่มากนัก การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จะทำให้ได้ข้อมูลเร็วขึ้น แต่มีข้อเสียคือ สัมภาษณ์ได้เฉพาะหน่วยตัวอย่างที่มีโทรศัพท์เท่านั้น บางกรณีผู้ตอบอาจจะไม่เกรงใจ หรือไม่พอใจที่จะตอบ หรืออาจจะวางหูโทรศัพท์ก็ได้

•  การตอบแบบสอบถาม

เป็นวิธีการรวบรวมข้อมูลโดยมอบแบบสอบถามพร้อมทั้งอธิบายวิธีบันทึกตลอดจนคำอธิบายศัพท์ต่างๆ ให้แก่หน่วยตัวอย่างล่วงหน้า ผู้วิจัยจะกลับไปรับแบบสอบถามตามวัน เวลาที่นัดหมายไว้ ถ้าการบันทึกแบบสอบถามไม่ถูกต้องหรือไม่เรียบร้อยก็จะได้มีการสอบถามหรือสัมภาษณ์เพิ่มเติมจนกระทั่งได้ข้อมูลตามที่ต้องการ

•  การส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์

ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ วิธีนี้เหมาะสำหรับการเก็บข้อมูลที่ไม่มีความสำคัญมากนัก เป็นข้อมูลง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีศัพท์หรือคำจำกัดความที่ต้องการคำอธิบาย จำนวนข้อคำถามมีไม่มากนัก วิธีนี้มีข้อดีคือ เสียค่าใช้จ่ายน้อยแต่มีข้อเสียคือ ได้รับแบบสอบถามกลับคืนมาน้อยหรือผู้บันทึกอาจจะเข้าใจข้อคำถามไม่ถูกต้อง หรือบันทึกอย่างขาดความรับผิดชอบ ข้อจำกัดคือ วิธีนี้ใช้สำหรับหน่วยตัวอย่างที่อ่านออกเขียนได้เท่านั้น

•  การนับและการวัด

ในการเก็บรวบรวมข้อมูลบางอย่างต้องใช้วิธีนับ เช่น การสำรวจจำนวนรถที่ผ่านจุดที่ต้องการศึกษา และในเวลาที่สนใจศึกษา จำนวนลูกค้าที่เข้าแถวเพื่อชำระเงินในคาบเวลาหนึ่งๆ จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลในคาบเวลาหนึ่ง การเก็บข้อมูลโดยให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบสอบ แบบวัดเป็นต้น

6) การสังเกต

วิธีนี้ใช้ในโครงการวิจัยต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ และทางสังคมศาสตร์ เช่น การสังเกตตำแหน่งของ

ดวงดาวบนท้องฟ้า การสังเกตพฤติกรรมของคนในชุมชนที่มีต่อผู้ป่วยเอดส์ เป็นต้น ข้อมูลที่ได้จากการสังเกตอาจจะเป็นข้อมูลเชิงคุณลักษณะหรือปริมาณก็ได้

ในการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้วิจัยต้องกำหนดขั้นตอนให้รัดกุมตั้งแต่ การวางแผนการเก็บรวบรวมกำหนดวิธีการให้เหมาะสมกับกลุ่มตัวอย่าง กำหนดวิธีบันทึกข้อมูล ถ้ามีผู้ช่วยในการเก็บข้อมูลต้องอบรมวิธีการเก็บให้มีความรู้ ความเข้าใจและชำนาญเท่าเทียมกัน จากนั้นจึงเก็บข้อมูลตามที่วางแผนไว้ เมื่อได้ข้อมูลกลับมาต้องตรวจสอบความสมบูรณ์ของข้อมูลที่ได้รับก่อนนำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป