ละครไทย

        เอกสารประกอบการสอนรายวิชา  ศ 21102        ศิลปะ 2      ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1    สืบสานนาฏศิลป์ไทย       เรื่อง  ละครไทย

…...........................................................................................................................................

       ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ละคร หมายถึง การมหรสพอย่างหนึ่ง    เล่นเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ

 วิวัฒนาการของละคร

                1. ละครชาตรี เป็นละครที่เกิดก่อนละครชนิดอื่นๆ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  แสดงเรื่อง  พระรถเสนและ
พระสุธนมโนรา  ซึ่งเป็นเรื่องที่นิยมแสดงมาก จึงเรียกกันอีกอย่างว่า  โนราชาตรี ในการแสดงจะมีตัวละครเพียง  3 ตัว
คือ  ตัวนายโรง  ตัวนาง  และตัวตลก

                2. ละครนอก เป็นละครที่พัฒนามาจากละครชาตรีโดยเพิ่มตัวแสดงให้มากขึ้น  ใช้ผู้ชายแสดงล้วน
ดำเนินเรื่องรวดเร็ว มุ่งเน้นความสนุกสนาน  ตลกขบขัน   เรื่องที่แสดง คือ ไชยเชษฐ์  สังข์ทอง คาวี ไกรทอง
สังข์ศิลปชัย ยกเว้น 3  เรื่องที่ไม่แสดง  คือ รามเกียรติ์ อิเหนา อุณรุท (เพราะเป็นเรื่องที่แสดงละครใน)

                3. ละครใน เป็นละครที่เน้นความสวยงาม  อ่อนช้อยของกระบวนการรำ  ตลอดจนบทร้องและดนตรี
เพราะเดิมเป็นการแสดงในเขตพระราชฐาน  ดำเนินเรื่องช้า ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน  เรื่องที่แสดงมีเพียง  3  เรื่อง
คือ รามเกียรติ์  อิเหนา และอุณรุท

                4. ละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5  โดยนำแบบอย่างมาจาก
ละครโอเปร่า  ลักษณะเด่น คือ  ผู้แสดงต้องร้องเองและรำเอง   แสดงครั้งแรกในโรงละครชื่อโรงละครดึกดำบรรพ์ 
จึงเรียกชื่อการแสดงละครนี้ตามชื่อของโรงละคร เรื่องที่นิยมแสดงได้แก่  อิเหนา  ตอน  ตัดดอกไม้ฉายกริช 
ไหว้พระบวงสรวง  เรื่อง  คาวี  สังข์ทอง  สังข์ศิลปชัย

                5. ละครพันทาง  เป็นละครแบบผสม มีตัวละครหลายเชื้อชาติ  ใช้ท่ารำแบบไทยผสมกับท่าทางอย่างสามัญ
มีการเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง  ผู้แสดงมีทั้งชายและหญิง นิยมแสดงเรื่อง  ราชาธิราช  พระลอ  ไกรทอง  สามก๊ก

                6. ละครเสภา เป็นละครที่พัฒนามาจากการขับเสภา    แสดงคล้ายละครพันทาง  นิยมแสดงเรื่อง  
ขุนช้าง ขุนแผน  ไกรทอง

                7. ละครร้อง ดำเนินเรื่องด้วยการร้อง  ผู้แสดงร้องเองสลับกับการพูดบ้าง  มีการรำและใช้ท่าทาง
อย่างสามัญประกอบการร้องและพูด  นิยมแสดงเรื่อง  สาวเครือฟ้า แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

                - ละครร้องล้วนๆ คือ ดำเนินเรื่องด้วยการร้องเป็นหลัก

                - ละครร้องสลับลำ คือ ดำเนินเรื่องด้วยการร้องสลับกับการพูด

                8. ละครสังคีต ดำเนินเรื่องด้วยการร้องและพูดเท่า ๆกัน ตัดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ เรื่องที่แสดง ได้แก่ 
เรื่องวั่งตี่  วิวาห์พระสมุทร

                9. ละครพูด ดำเนินเรื่องด้วยการพูดของตัวละคร  ใช้ท่าทางอย่างสามัญในการแสดงซึ่งต่อมา
ละครชนิดนี้ได้พัฒนาเป็นละครเวที  ละครทีวีในปัจจุบัน   นิยมแสดงเรื่อง  มัทนะพาธา  หัวใจนักรบ  เวนิสวานิช
แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

                - ละครพูดล้วนๆ คือ ดำเนินเรื่องด้วยการพูดอย่างเดียว

                - ละครพูดสลับลำ คือ ดำเนินเรื่องด้วยการพูดสลับด้วยการขับร้องเล็กน้อย

                - ละครพูดคำฉันท์ คือ ดำเนินเรื่องด้วยการใช้บทประพันธ์ประเภทคำฉันท์