นาฏยศัพท์
นาฏยศัพท์
ความหมายของนาฏยศัพท์
นาฏยศัพท์ หมายถึง ศัพท์เฉพาะด้านนาฏศิลป์ไทย มีลักษณะและรูปแบบที่กำหนดเป็นแบบแผน
เกี่ยวข้องกับลักษณะท่ารำที่ใช้ฝึกหัดนาฏศิลป์
ประเภทของนาฏยศัพท์
แบ่งเป็น 3 หมวด คือ
1. หมวดนามศัพท์ ได้แก่
1.1 วง เช่น วงบน วงกลาง วงล่าง วงหน้า เป็นต้น
1.2 จีบ เช่น จีบหงาย จีบคว่ำ จีบหลัง จีบปรกข้าง เป็นต้น
1.3 การใช้เท้า เช่น ยกเท้า ก้าวเท้า กระดกเท้า
2. หมวดกิริยาศัพท์ แยกเป็น 2 พวก คือ
2.1 ศัพท์ที่ใช้เรียกเฉพาะขณะที่ใช้ท่า
2.1.1 ส่วนศีรษะ คอ ไหล่ ได้แก่ เอียง ลักคอ เป็นต้น
2.1.2 ส่วนมือ แขน ได้แก่ ม้วนมือ กรายมือ ปาดมือ เป็นต้น
2.1.3 ส่วนลำตัว ได้แก่ ใช้ตัว (ตัวพระใช้เกลียวข้าง ตัวนางใช้เกลียวหน้า)
2.1.4 ส่วนขา เท้า ได้แก่ กระทุ้ง ขยั่นเท้า ซอยเท้า เป็นต้น
2.2 ศัพท์เสริม
2.2.1 ศัพท์ที่เรียกเพิ่มเติมเพื่อเสริมท่ารำให้งาม เช่น กดไหล่ เปิดส้น เปิดคาง เป็นต้น
2.2.2 ศัพท์ที่ใช้เรียกท่ารำที่ไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ เช่น วงหัก วงล้น วงล้า เป็นต้น
3. หมวดนาฏยศัพท์เบ็ดเตล็ด หมายถึง ศัพท์ต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากนามศัพท์และ กิริยาศัพท์ เช่น
จีบยาว จีบสั้น นางกษัตริย์ ยืนเครื่อง แม่ท่า เป็นต้น
สำหรับนาฏยศัพท์และภาษาท่าที่นักเรียนควรศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐาน ได้เรียบเรียงนำเสนอ ดังนี้
ภาพที่ 1
กดเกลียวข้าง เกลียวข้างนั้นอยู่ที่ด้านข้างของลำตัวบริเวณเอว กระทำเพื่อให้ดูเอวอ่อน มักใช้กับตัวนาง
กระทำเป็นกิริยาต่อเนื่องกับการกดไหล่
กดไหล่ คือ การเอียงไหล่ไปข้างใดข้างหนึ่ง เช่น กดไหล่ซ้ายก็โน้มไหล่ไปทางซ้าย เป็นต้น
ภาพที่ 2
กระดกหลัง คือ การยืนย่อเข่าข้างหนึ่งแล้วยกเท้าอีกข้างไปด้านหลัง โดยส่งเข่าไปข้างหลังให้มาก
น้ำหนักตัวทิ้งลงบนเท้าที่ยืนอยู่ ตั้งลำตัวตรง
ภาพที่ 3
กระทุ้งเท้า คือ อาการของเท้าข้างหนึ่งที่ใช้จมูกเท้าวางอยู่ด้านหลังเปิดส้นเท้าแล้วกระทุ้ง
โดยใช้จมูกเท้าแตะ หรือกระทุ้งพื้นเบาๆ
ภาพที่ 4
ก้าวไขว้ คือ การก้าวเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปข้างหน้า เหมือนก้าวหน้าแต่ไขว้ขามาทางเท้าที่ยืนอยู่ให้มาก
เปิดส้นเท้าหลัง
ภาพที่ 5
จีบ คือ การใช้นิ้วหัวแม่มือจรดกับข้อสุดท้ายของปลายนิ้วชี้ นิ้วที่เหลือเหยียดตึง และกรีดออกให้สวยงาม
ในลักษณะคล้ายพัด
ในภาพคือ จีบหงาย หมายถึง การจีบโดยหงายข้อมือ ให้ปลายนิ้วที่จีบชี้ขึ้นข้างบน
ภาพที่ 6
จีบคว่ำ คือ การจีบโดยคว่ำลำแขนหักข้อมือลงให้ปลายนิ้วที่จีบชี้ลงล่าง
ภาพที่ 7
จีบปรกข้าง คือ การจีบที่หันปลายนิ้วที่จีบเข้าหาแง่ศีรษะ
ภาพที่ 8
จีบหลัง คือ การจีบที่ส่งแขนไปด้านหลังพลิกข้อมือขึ้นให้ปลายนิ้วที่จีบชี้ขึ้นด้านบน
ภาพที่ 9
จีบล่อแก้ว คือ การจีบให้ปลายนิ้วหัวแม่มือทับปลายนิ้วกลางคล้ายวงกลม แล้วเหยียดนิ้วที่เหลือให้สวยงาม
ภาพที่ 10
ตั้งเข่า เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ยืนเข่า” คือ การคุกเข่าลงข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งตั้งขึ้นฝ่าเท้าวางลงกับพื้น
ภาพที่ 11
ตั้งวง คือ กิริยามือประกอบด้วยนิ้ว ฝ่ามือ ข้อมือ และช่วงแขน โดยการเรียงนิ้วทั้ง 4 นิ้วเรียงชิดกัน
นิ้วหัวแม่มือหลบเข้าหาฝ่ามือ ตั้งข้อมือขึ้นให้ปลายนิ้วชี้ขึ้นข้างบน ช่วงแขนตั้งแต่ไหล่จรดข้อมือ
โค้งให้ได้สัดส่วนสวยงาม
ในภาพคือ วงบน หมายถึง ให้ปลายนิ้วอยู่ระดับแง่ศีรษะ (ตัวพระ)
หรือให้ปลายนิ้วอยู่ระดับหางคิ้ว (ตัวนาง)
ภาพที่ 12
วงกลาง คือ การตั้งวงให้ปลายนิ้วอยู่ระดับไหล่
ภาพที่ 13
วงล่าง คือ การตั้งวงโดยทอดส่วนโค้งของลำแขนให้อยู่ระดับเอว หรือหัวเข็มขัด
ภาพที่ 14
วงหน้า คือ การตั้งวงโดยทอดส่วนโค้งของลำแขนมาด้านหน้า ปลายนิ้วอยู่ระดับปาก
ที่มา : พจนา บัวกระสินธุ์
ผู้แสดงแบบ : บุษรา พวงสมบัติ