คำอธิบายรายวิชา

คำอธิบายรายวิชา

รายวิชาเพิ่มเติม  เคมี 3            กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5              จำนวน 1.5 หน่วยกิต  เวลา 60 คาบ

 

          ศึกษา  วิเคราะห์  เกี่ยวกับความหมายของอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี  แนวคิดเกี่ยวกับการเกิดปฏิกิริยาเคมี  พลังงานกับการดำเนินไปของปฏิกิริยาเคมี  ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี  การเปลี่ยนแปลงที่ผันกลับได้  การเปลี่ยนแปลงที่ภาวะสมดุล  ความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของสารต่างๆ  ณ ภาวะสมดุล  ปัจจัยที่มีผลต่อภาวะสมดุล  หลักของเลอชาเตอลิเอ  สมดุลเคมีในสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม  สารละลายอิเล็กโทรไลต์และนอนอิเล็กโทรไลต์  สารละลายกรดและสารละลายเบส  ทฤษฎีกรด–เบส  คู่กรด–เบส  การแตกตัวของกรดและเบส  การแตกตัวเป็นไอออนของน้ำ  pH ของสารละลาย  อินดิเคเตอร์สำหรับกรด-เบส  ปฏิกิริยาของกรดและเบส  การไทเทรตกรด-เบส  และสารละลายบัฟเฟอร์  โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์  กระบวนการสืบเสาะหาความรู้  การสำรวจตรวจสอบ  การสังเกต  การสืบค้นข้อมูล  การอภิปรายสรุป  เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ  สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้  มีความสามารถในการตัดสินใจ  นำความรู้มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของตนเอง  ดูแลรักษาสิ่งมีชีวิตอื่น  เฝ้าระวังและพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  มีจิตวิทยาศาสตร์  มีคุณธรรม  จริยธรรม  และคุณลักษณะอันพึงประสงค์

 

ผลการเรียนรู้

1. อธิบายความหมายของอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี  คำนวณหาอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี  เขียนและแปลความหมายกราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของสารกับเวลา  รวมทั้งสามารถหาอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมีจากกราฟ

2. อธิบายแนวคิดเกี่ยวกับการเกิดปฏิกิริยาเคมี  โดยใช้ทฤษฎีจลน์และการชนกันของอนุภาคและการเกิดสารเชิงซ้อนกัมมันต์

3. แปลความหมายจากกราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงพลังงานกับการดำเนินไปของปฏิกิริยาเคมี  และสามารถระบุได้ว่าเป็นปฏิกิริยาดูดหรือคายพลังงาน

4. ระบุปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี  อธิบายผลของความเข้มข้น  พื้นที่ผิวของสาร  อุณหภูมิ  และสารบางชนิดที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี

5. อธิบายความหมายของปฏิกิริยาผันกลับ  ภาวะสมดุล  สมดุลระหว่างสถานะ  สมดุลในสารละลายอิ่มตัว  สมดุลในปฏิกิริยาเคมี  และอธิบายสมบัติต่างๆ  ของระบบ  ณ ภาวะสมดุล 

6. เขียนความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของสารตั้งต้นกับผลิตภัณฑ์  ณ ภาวะสมดุล  คำนวณค่าคงที่สมดุล  และความเข้มข้นของสารต่างๆ  ณ ภาวะสมดุล

7. ระบุปัจจัยที่มีผลต่อภาวะสมดุลของระบบ  อธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อภาวะสมดุลของระบบถูกรบกวน  และระบุปัจจัยที่มีผลต่อค่าคงที่สมดุลพร้อมทั้งอธิบายเหตุผล

8. อธิบายการปรับตัวของระบบเพื่อเข้าสู่ภาวะสมดุลโดยใช้หลักของเลอชาเตอลิเอ  รวมทั้งการเลือกภาวะที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์สูงในอุตสาหกรรม

9. อธิบายการเกิดสมดุลเคมีในกระบวนการต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต  และปรากฏการณ์ต่างๆ  ในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

10. อธิบายสมบัติของสารละลายอิเล็กโทรไลต์และสารละลายนอนอิเล็กโทรไลต์  การเปลี่ยนแปลงเมื่อกรดหรือเบสละลายในน้ำ  และระบุชนิดของไอออนที่ทำให้สารละลายแสดงสมบัติเป็นกรดหรือเบส

11. อธิบายความหมายและสมบัติของกรดและเบสตามทฤษฎีกรด-เบสของอาร์เรเนียส  เบรินเสตด-ลาวรี  และลิวอิส  และระบุโมเลกุลหรือไอออนที่เป็นคู่กรด-เบสในปฏิกิริยาตามทฤษฎีกรด-เบสของเบรินเสตด-ลาวรี

12. อธิบายความสามารถในการแตกตัวของกรดแก่  เบสแก่  กรดอ่อน  เบสอ่อน  เปรียบเทียบปริมาณการแตกตัวของกรดหรือเบส  คำนวณค่าร้อยละของการแตกตัวและค่าคงที่การแตกตัวของกรดอ่อนหรือเบสอ่อน  และคำนวณความเข้มข้นของ H3O+ และ OH-  โดยใช้ค่าคงที่การแตกตัวของกรดและเบส 

13. อธิบายการเปลี่ยนแปลงภาวะสมดุลของน้ำเมื่อเติมกรดหรือเบส คำนวณความเข้มข้นของ H3O+ และ OH- และคำนวณค่า pH ของสารละลายเมื่อทราบค่าความเข้มข้นของ H3O+ และ OH-  รวมทั้งระบุความเป็นกรด-เบสของสารละลายจากค่า pH

14. อธิบายเหตุผลที่ทำให้อินดิเคเตอร์เปลี่ยนสี  ระบุช่วงของการเปลี่ยนสีของอินดิเคเตอร์  ระบุค่า pH  หรือความเป็นกรด-เบสของสารละลาย  และอธิบายความสำคัญของ pH  หรือความเป็นกรด-เบสของสารละลายในสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

15. อธิบายการเกิดปฏิกิริยาระหว่างกรดกับเบสและกรดหรือเบสกับสารบางชนิด  ปฏิกิริยาการสะเทิน  ปฏิกิริยาไฮโดรลิซิสของเกลือในน้ำ  พร้อมทั้งเขียนสมการแสดงปฏิกิริยา

16. อธิบายวิธีการไทเทรต  การเลือกใช้อินดิเคเตอร์ที่เหมาะสมในการไทเทรตกรด-เบส  คำนวณความเข้มข้นของสารละลายจากการไทเทรต  เขียนกราฟของการไทเทรตและหาจุดสมมูลจากกราฟ  และระบุค่า pH ของสารละลาย ณ จุดสมมูล

17. อธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อเติมกรดหรือเบสลงในสารละลายบัฟเฟอร์  และเขียนสมการแสดงปฏิกิริยาการควบคุม pH ของสารละลายบัฟเฟอร์