การศึกษาตลอดชีวิต พัฒนาคนไทยอย่างยั่งยืน
ปัจุบันสังคมโลกกำลังเผชิญกับสภาพความเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนส่งผลถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกคนในสังคม ดังนั้น การพัฒนาคนให้มีศักยภาพและรู้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข จึงเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากสังคมหรือองค์กรใดมีคนที่มีศักยภาพสูงย่อมได้เปรียบในการที่จะช่วยกันขับเคลื่อนสังคมหรือองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย
นักวิชาการทั้งหลายต่างยอมรับว่าการพัฒนา ’คน“ หรือ ’ทรัพยากรมนุษย์“ เป็นการพัฒนาที่สำคัญที่สุด และถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและยั่งยืนเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนด้านอื่น ๆ ซึ่งการพัฒนาอื่นใดก็ตามย่อมยากที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้หากมีการละเลยและมองข้ามการพัฒนาคนให้มีศักยภาพมีคุณธรรม จริยธรรม การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีความสามารถเต็มตามศักยภาพ มีการพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการพัฒนาทั้งปวง การศึกษาเป็นหนทางแห่งการพัฒนาชีวิตและสร้างความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน หรือการศึกษาตามอัธยาศัย เพราะจะช่วยเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ความสามารถให้แต่ละบุคคล ดังนั้น การศึกษาจะต้องไม่สิ้นสุดเพียงแค่จบจากโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ แต่จะต้องส่งเสริมให้ทุกคนได้เรียนอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะจบการศึกษาในระบบไปแล้วก็ตาม โดยโรงเรียนจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้เตรียมความพร้อมด้านความรู้ ความสามารถ และปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิตให้แก่ผู้เรียนเพื่อให้มีทัศนคติแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้ และสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
การศึกษาตลอดชีวิตเป็นรูปแบบของการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตของมนุษย์ทุกคนนับตั้งแต่วัยแรกเกิดจนกระทั่งตาย การศึกษาจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่ควบคู่กับสังคมมนุษย์ เราสามารถเลือกที่จะศึกษาเรียนรู้ได้ในช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิตตามความต้องการและเหมาะสม การศึกษาเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทั้งในครอบครัว วัด ชุมชน สถาบันการศึกษา สถานประกอบการ และแหล่งอื่น ๆ เราจะเห็นได้ว่าการศึกษาตลอดชีวิตกลายเป็นความจำเป็นของทุกคนในยุคปัจจุบัน เพื่อให้สามารถก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกช่วงวัยให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาประเทศในอนาคต และส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ดังที่ปรากฏชัดใน ’ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน“ ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนไทยทุกกลุ่มวัยให้มีศักยภาพ โดยการสร้างโอกาสการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้คนทุกกลุ่มวัยสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และองค์ความรู้ที่หลากหลาย ทั้งนี้ด้วยการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้ตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต และความสามารถในการดำรงชีวิตได้อย่างรู้เท่าทัน การเสริมสร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทั้งในระดับท้องถิ่น ชุมชน และประเทศ การสร้างปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้างโอกาสอย่างเป็นธรรมให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการทางสังคมที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง รวมถึงสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่ถูกกีดกันและแบ่งแยก และการจัดระบบความสัมพันธ์ของสวัสดิการทางสังคมที่จัดโดยระดับชาติ ระดับท้องถิ่นและชุมชนอย่างเชื่อมโยงและเกื้อกูล ควบคู่กับการกระจายอำนาจให้ชุมชนสามารถจัดการกับปัญหาของชุมชนด้วยตนเอง
การส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตนั้นต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้รับการศึกษาตามรูปแบบที่ต้องการ มีความยืดหยุ่นหลากหลายตามโอกาสและสถานการณ์ ทุกภาคส่วนในสังคมต้องมีบทบาทร่วมกันในการจัดการศึกษา เช่น บ้าน วัด ที่ทำงาน สถานประกอบการ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สโมสร ศาลาประชาคม เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ของสถาบันการศึกษา เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน เช่น บริการข่าวสาร ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้ผู้เรียนสามารถศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ส่วนกิจกรรมการเรียนรู้สามารถจัดได้อย่างหลากหลายโดยอาจใช้สื่อประเภทต่าง ๆ เช่น เรียนรู้จากครูผู้สอน วิทยุ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ คอมพิวเตอร์ แบบเรียนสำเร็จรูป หนังสือพิมพ์ การประชุม การอบรม เป็นต้น ทั้งนี้ จะต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียนเป็นสำคัญณ วันนี้ คงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องยกเครื่องปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทยอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ โดยเฉพาะการส่งเสริมทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างมีคุณภาพ ทุกระดับ และทุกประเภทการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนผลักดันให้คนไทยได้มีการศึกษาตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ และเติมเต็มให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง.