พ่อแม่ยุคนี้ต้องพาลูกผจญภัยระบบการศึกษาไทย !
จากผลสำรวจของเอแบคโพลล์ เรื่อง “เด็กและเยาวชนไทยอยากเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงจากการศึกษาไทย” โดยความร่วมมือของสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน สสค. เพื่อสะท้อนมุมมองและทัศนคติของเด็กและเยาวชนที่มีต่อระบบการเรียนการสอนของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยสำรวจเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 14-18 ปี ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 17 จังหวัด จำนวน 4,255 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-15 เมษายน 2557
เด็กและเยาวชนได้สะท้อนรูปแบบการเรียนการสอนตามระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 58.9 เห็นว่า โอกาสและมาตรฐานทางการศึกษาของไทยไม่เท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับที่เห็นด้วยว่า เด็กไทยเรียนหนักมากที่สุดในโลก แต่ไม่สามารถนำเอาความรู้ในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ (ร้อยละ 58.7)นอกจากนี้ ร้อยละ 56.7 ยังเห็นว่า การแนะแนวการศึกษาไทยยังไม่ทั่วถึง ร้อยละ 54.8 ระบุเด็กไทยไม่ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน และร้อยละ 53.1 ระบุการเรียนการสอนเป็นแบบที่เริ่มต้นจากความรู้ในหนังสือและจบลงที่ข้อสอบ ตามลำดับ
ดร.ปรีชา เมธาวัสภาคย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า คำถามลำดับแรกที่เด็กอยากจะถามครูมากที่สุดเป็นคำถามเกี่ยวกับวิธีการสอนของครู (ร้อยละ 25.0) เช่น “ทำไมครูไม่หาวิธีการสอนที่สนุกและไม่น่าเบื่อ? .... ทำไมเวลาสอนต้องอ่านตามหนังสือ?....ครูมาสอนหนังสือหรือมาอ่านหนังสือให้นักเรียนฟัง?..... และทำไมสอนในห้องเรียนไม่รู้เรื่องแต่สอนพิเศษรู้เรื่อง?”
นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับการสั่งการบ้าน/สั่งงาน (ร้อยละ 21.2) คำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของครู (ร้อยละ 14.7) ตามลำดับ โดยเด็กเยาวชนมากกว่า 2 ใน 3 อยากให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนของระบบการศึกษาในปัจจุบันเพราะหลักสูตรการสอนเน้นเนื้อหาทฤษฎีมากกว่าการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยพบว่าเด็กต้องเรียนหนักวันละ 7-8 คาบ ในขณะที่ความรู้ที่ใช้สอบกลับได้มาจากการเรียนพิเศษ โดยร้อยละ 65.1 ให้ความเห็นว่าการเรียนพิเศษเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตการเรียนทุกวันนี้ เนื่องจากทำให้เข้าใจเนื้อหายิ่งขึ้น ได้ความรู้เพิ่มเติมจากที่โรงเรียนไม่ได้สอน ส่งผลให้เมื่อพิจารณาความสุขต่อรูปแบบการเรียนการสอนตามระบบการศึกษาในปัจจุบันพบว่า มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 5.78 จากคะแนนเต็ม 10
ในขณะที่รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลสำรวจที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงข้อเท็จจริงทางการศึกษาไทยที่เด็กถูกกระทำจากระบบการศึกษา โดย 70-80% สะท้อนความคิดว่าทนไม่ได้และเป็นความทุกข์จากระบบการศึกษาที่ไม่ยุติธรรม ไม่เหมาะกับชีวิตจริงของเขา เป็นความรู้สึกที่แสดงตัวตนของระบบการศึกษาที่เด็กไม่มีทางเลือก และต้องต่อสู้กันเองบนระบบการศึกษาแบบลู่เดียว
“สิ่งที่เด็กระเบิดความรู้สึกออกมาครั้งนี้น่าจะทำให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาต้องรับฟังและกลับมามีสติ คิดทบทวนปฏิรูปการศึกษาใหม่ โดยคืนโอกาสให้กับเด็ก เปลี่ยนจากระบบผู้ใหญ่เป็นศูนย์กลางเป็นเด็กเป็นศูนย์กลาง โดยให้เด็กได้เรียนรู้ เข้าใจตนเอง ประกอบอาชีพได้ มีความสุขในสิ่งที่เขาเรียนรู้ มีคนเข้าใจในสิ่งที่เขาใฝ่ฝันจึงไม่ควรปิดกั้นความหลากหลาย”
ผลสำรวจครั้งนี้ไม่ได้เหนือความคาดหมายเท่าใดนัก เพราะสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ก็สะท้อนการศึกษาในบ้านเราอย่างยิ่ง เพียงแต่งานสำรวจที่ผ่านตัวเด็กล่าสุด ยิ่งสะท้อนว่าวันเวลาผ่านไปกี่สิบปี ปัญหาเดิมๆ เรื่องการศึกษาในบ้านเราก็ยังคงอยู่ และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังสักที
เด็กและเยาวชนบ้านเรายังคงติดอันดับเรียนทั้งในระบบและกวดวิชาติดอันดับโลก และแนวโน้มก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาเรื่องเด็กนักเรียนที่เรียนเก่งวิชาการมาก แต่กลับไม่สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ก็มีจำนวนไม่น้อย หรือแม้แต่เด็กที่เรียนจบมาแล้วก็ยังไม่รู้ความต้องการของตัวเองว่าเรียนจบแล้วจะไปประกอบอาชีพการงานอะไร หรือบางคนถึงกลับไม่ได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ แล้วต้องออกกลางคันก็มีให้เห็นอยู่บ่อย
ทั้งหมดนี้ แม้จะสะท้อนปัญหาระบบโครงสร้างการศึกษาในบ้านเรา แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องมาจากครอบครัวด้วยที่ต้องมีส่วนช่วยลูกในการเข้าใจการศึกษาที่เหมาะกับลูกของเรา และช่วยให้ลูกค้นหาความถนัดของตัวเอง ซึ่งคนเป็นพ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิดลูกจะรู้ดีที่สุดว่าลูกของเราถนัดอะไร ชอบสิ่งใด และทำสิ่งใดได้ดี
ปัญหาเรื่องการศึกษาในบ้านเรามีมากเกินกว่าที่จะปล่อยลูกให้เดินตามยถากรรม คนเป็นพ่อแม่ต้องตั้งรับและเข้าใจว่าภายใต้สภาพปัญหาและข้อจำกัดที่มี คนเป็นพ่อแม่ต้องทำการบ้านมากขึ้น แสวงหาข้อมูลมากขึ้น และมีเทคนิคในการจัดการให้ลูกสามารถเข้าไปสู่ระบบการศึกษาแบบรู้จักและเข้าใจความถนัดของตัวเองเท่าที่จะทำได้ และสิ่งที่พ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิดเด็กสามารถทำได้ ดังนี้
ประการแรก ต้องเริ่มจากความชอบของลูก สิ่งใดก็ตามที่เริ่มจากความชอบ ก็จะทำให้เด็กมีความอยากที่จะทำสิ่งนั้นให้ได้ดี
ประการที่สอง ต้องสังเกตว่าลูกทำสิ่งใดได้ดี เพราะบางครั้งเด็กก็ไม่รู้ว่าตัวเองทำสิ่งใดได้ดีหรือไม่ ถ้าพ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิดเด็กสังเกตเห็นและชื่นชมในสิ่งที่เขาทำ ก็จะทำให้เขาอยากที่จะทำสิ่งนั้นเพิ่มมากขึ้น
ประการที่สาม ต้องชวนพูดคุยและตั้งคำถามในแต่ละช่วงวัยว่าลูกโตขึ้นไปอยากเป็นอะไร แน่นอนว่าเขาอาจจะตอบไม่เหมือนกันในแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับวัยและประสบการณ์ด้วย แต่การพูดคุยจะช่วยให้ลูกได้เกิดการคิดและเริ่มพินิจพิเคราะห์สิ่งที่ตัวเองอยากเป็น
ประการที่สี่ ต้องแนะนำเรื่องการเลือกแผนการเรียน โดยให้มองที่ความถนัดและความชอบของตัวเด็ก ไม่ใช่เพราะพ่อแม่อยากให้ลูกเรียนตามที่ตัวเองปรารถนา หรืออาจจะช่วยแนะนำ หรือชี้แนะแนวทางการเรียนให้ชัดเจนขึ้น ว่าเรียนสาขานี้แล้วจะมีโอกาสประกอบอาชีพการงานประมาณแนวไหน หรือสาขาที่สนใจต้องเรียนวิชาอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้ลูกตัดสินใจเอง
ประการที่ห้า ต้องไม่ตามเพื่อน เด็กๆ ที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอว่าถนัดอะไร หรือชอบอะไรมักจะตัดสินใจเลือกเรียนแผนการศึกษาตามเพื่อน ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่รู้ว่าจะเลือกอะไร ก็เลยเลือกเรียนตามเพื่อน หรือติดเพื่อนบางคน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก เพราะในอนาคตเมื่อได้เรียนรู้และประสบการณ์มากขึ้น ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียใจกับการตัดสินใจ
ภายใต้ระบบการศึกษาไทยที่เด็กไทยต้องผจญภัยเช่นนี้ หากพ่อแม่ได้ช่วยประคับประคองลูกอย่างมีกรอบ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป น่าจะพอมีหลักประกันไปสู่แสงสว่างได้บ้าง