บทความ-1-“ระนาด” เอกอาวุธดนตรีไทย ในกระแสกาลเวลา

images.jpgโหมโรง
        “...เสียงรัวระนาดถี่ยิบ ไล่เรียงไปตามลูกระนาด บ้างกวาด บ้างสะบัด บ้างขยี้ บางครั้งหนักหน่วง บางครั้งแผ่วเบา – สายตาจับจ้องอยู่ที่มือทั้งสอง ซึ่งวาดไปเร็วราวกับลมพัด แต่บางขณะยังเหลือบมองคู่ต่อสู้ ที่นิ่งขึง มีแววตื่นตะลึงในดวงตา เม็ดเหงื่อผุดซึมเต็มหน้า ไม่มีรอยยิ้มเยาะที่มุมปาก มีแต่เสียงระนาด ที่ดังก้องไปทั่วท้องพระโรง ดังก้องอยู่ในสองหูของทุกคน และยังดังสะเทือนเข้าไปถึงหัวใจ...”
        บางภาพจากฉากประชันระนาด อย่างดุเดือด ระหว่าง”ศร”และ”ขุนอิน”ในภาพยนตร์”โหมโรง” น่าจะยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้
       ซึ่งแม้ว่า ในแง่ของรายได้หรือการตอบรับจากตลาด อาจจะไม่ถึงกับมากมายนัก แต่ผู้ชมและนักวิจารณ์หลายคนก็ได้ยกย่อง ให้”โหมโรง”เป็นภาพยนตร์แห่งปี ตั้งแต่ต้นปีไปเสียแล้ว คงไม่เกินเลยนักหากจะกล่าวว่า อานุภาพแห่งเสียง”ระนาด” ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แสดงพลังออกมาอย่างถึงขีดสุด ทั้งชวนให้หัวใจเต้นเร่า ปลุกเร้าวิญญาณแห่งความเป็นไทยให้ตื่นขึ้นยิ่งกว่าครั้งใดๆ
        อาจกล่าวได้ว่า นับจาก”ระนาดเอก”ละครเรื่องเยี่ยม ในความทรงจำ ของหลายคนแล้ว สิบกว่าปีที่ผ่านมา ดนตรีไทยแทบจะไม่ถูกนำเสนอในรูปของหนัง หรือละครอีกเลย หรือแม้จะมีก็เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง เช่น ขิมของอังศุมาลินใน”คู่กรรม” หรือ ขลุ่ยของไอ้ขวัญใน”แผลเก่า” แต่นั่นก็ ไม่ได้เป็นเนื้อหาหลัก ดังเช่น ที่”โหมโรง”ได้นำเสนอ
        นั่นเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของ”หลวงประดิษฐ์ไพเราะ” (ศร ศิลปบรรเลง) ดุริยกวีผู้ยิ่งใหญ่ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงห้ารัชกาล ซึ่งนอกจากจะมีผลงานการประพันธ์เพลงนับร้อยๆ เพลงแล้ว หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ยังเป็นผู้ที่คิดค้นเทคนิคที่เรียกว่า “ทางกรอ” ซึ่งได้แก่การสะบัดไม้ รัวขยี้ไม้ อันเป็นทางระนาดที่ผิดแปลกแตกต่างไปจากเดิม ดังเช่นที่คนสมัยนั้นบางคนกล่าวว่า หลวงประดิษฐ์ไพเราะตีระนาดเหมือน “หมาสะบัดน้ำร้อน” แต่ในที่สุด การตีแบบนี้กลับเป็นการตีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

 

 
ระนาดในสังคมไทย
        มีข้อสันนิษฐานว่า ระนาด เป็นเครื่องดนตรีที่วิวัฒนาการมาจากกรับ โดยใช้ไม้กรับขนาดเล็กใหญ่ลดหลั่นกัน เรียกว่า “ลูกระนาด” นำมาร้อยให้ติดกันเป็นผืนเรียกว่า “ผืนระนาด”ซึ่งแขวนไว้บนราง ใช้ขี้ผึ้งกับตะกั่วผสมกันติดหัวท้ายของลูกระนาด เพื่อถ่วงเสียงให้มีระดับต่างกันออกไป เมื่อก่อนลูกระนาดทำจากไม้ไผ่ ที่เรียกว่าไผ่บงหรือไผ่ตง ต่อมามีผู้นำเอาไม้แก่น เช่น ไม้ชิงชัน ไม้มหาด ไม้พยุง มาเหลาใช้ แต่ระนาดที่ทำจากไม้ไผ่ตง ยังคงได้รับความนิยมมากกว่า
        ระนาดเอกประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญคือ รางระนาด และผืนระนาด โดยรางระนาด มีลักษณะเป็นรางงอนขึ้นทั้งสองข้าง อยู่บนฐานยกพื้น รางระนาดอาจเป็นรางเรียบๆ ธรรมดา หรืออาจแกะสลักลงรักปิดทอง ส่วนผืนระนาด จะมีลูกระนาด 21-22 ลูก เจาะรูร้อยด้วยเชือกตลอดทั้งผืน ไม้ตีระนาดมี 2 ชนิดคือไม้นวมและไม้แข็งหน้าที่ของระนาดเอก คือ เป็นตัวนำในวงปี่พาทย์ ดำเนินทำนองในทางเข้ม โลดโผน สนุกสนาม กล่าวได้ว่า “ระนาดเอก” เป็นเครื่องดนตรีที่เปรียบเสมือนเป็น”พระเอก”ของวง
        ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการสร้าง “ระนาดทุ้ม”ขึ้น เลียนแบบระนาดเอก โดยให้รางระนาดวางราบไปกับพื้น ผืนทำด้วยไม้มีลูกระนาด 17-18 ลูก ลูกระนาดมีขนาดใหญ่กว่า เสียงจะทุ้มกว่า ไม้ตีมีขนาดใหญ่กว่า นิ่มกว่า หน้าที่ของระนาดทุ้ม คือการสอดประสานหลอกล่อกับระนาดเอก
        นอกจากระนาดเอกและระนาดทุ้มที่เป็นที่รู้จักกันดีแล้ว ยังมี”ระนาดเอกเหล็ก” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 รางระนาดทำด้วยไม้ แต่ลูกระนาดทำด้วยโลหะจำพวกเหล็กหรืออลูมิเนียม จำนวน 20-21 ลูก ไม้ที่ใช้ตีเป็นไม้แข็ง และ”ระนาดทุ้มเหล็ก” เป็นเครื่องดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประดิษฐ์ขึ้น ตัวรางระนาดทำด้วยไม้ ส่วนลูกระนาดทำจากโลหะพวกเหล็กหรืออลูมิเนียม เช่นเดียวกับระนาดเอกเหล็ก แต่มีขนาดใหญ่กว่า และมีเสียงทุ้มก้องกังวานกว่า


ระนาดเอก “พระเอก”ของดนตรีไทย
        ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ดนตรีไทยได้รับความนิยมสูงมาก เพราะงานมหรสพ งานประเพณี รวมทั้งงานพระราชพิธีต่างๆ ต้องมีดนตรีไทยเป็นส่วนประกอบ สำนัก วงดนตรีไทย นักดนตรี ครูดนตรี คนมีฝีมือ ล้วนมีอยู่มากมายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่คนที่เล่น “ระนาดเอก” มักจะได้รับความสนใจมากกว่าใครๆ ในวง
        อาจารย์บำรุง พาทยกุล หัวหน้าภาควิชาดุริยางค์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และผู้อำนวยการโรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของระนาดเอกในฐานะพระเอกของวงว่า “...ที่บอกว่าระนาดเอกเป็นพระเอกของวง เนื่องจากระนาดนี่ ด้วยหน้าที่ของเขาในวง เขาจะเป็นคนที่คอยนำ เช่น นำขึ้น หรือว่าจะแยกไปทางไหน หรือว่าจะทอดลง จะช้าจะเร็ว เขาจะเป็นคนนำ เพราะว่าเสียงของเขาจะดัง คนระนาดจะเป็นคนชักไป โดยหน้าที่ ต้องถือเป็นผู้นำวง เสน่ห์ของเสียงระนาดอยู่ที่ เป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยไม้ ซึ่งมีความแตกต่างจากเครื่องดนตรีที่เป็นเสียงโลหะเช่น ฆ้อง ซึ่งเสียงเหล่านี้มันจะก้องกังวานยาวนาน แต่ถ้าเป็นระนาด มันจะไม่ก้องกังวานแบบโลหะ แต่มันจะเป็นเสียงที่...ถ้าตีด้วยไม้นวม ก็จะทุ้มนุ่มนวล ไพเราะ ไม่บาดหู ถ้าตีด้วยไม้แข็ง เสียงก็แกร่ง ใส...” ในเรื่องของความยากง่ายในการเรียนนั้น อาจารย์บำรุง อธิบายว่า เนื่องจากระนาดเป็นเครื่องดนตรีที่สามารถพลิกแพลงได้หลากหลาย มีเทคนิคที่ใช้มากกว่าเครื่องดนตรีประเภทอื่น ระนาดเอกจึงเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นให้ดีได้ยาก ประกอบกับ คนที่จะเรียนระนาดได้ดี จะต้องมีปฏิภาณไหวพริบดี พลิกแพลงใช้กลเม็ดต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและหลากหลาย การเรียนระนาดจึงมีความยากกว่าการเรียนเครื่องดนตรีชนิดอื่น “...ยกตัวอย่างเช่น เราเขียนหนังสือ เขียนคำว่ากินข้าว ระนาดเขาบอกว่าต้องเสวย เรียกว่า ต้องแปลให้อยู่ในความหมายเดิม แต่ต้องแปรไปในหลายรูปแบบ เป็นรับประทาน หรืออะไรก็แล้วแต่ให้อยู่ในความหมายเดิม ต้องไม่ซ้ำ และแตกต่างออกไป นอกจากนี้ คนระนาดจะต้องเป็นคนที่ข้อแข็งแรง สามารถควบคุมไม้ตีให้ตีได้อย่างที่ใจต้องการ สมองกับมือต้องสัมพันธ์กันอย่างมาก...” อาจารย์บำรุงกล่าว


จากยุคเฟื่องฟูสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน
        หนังสือ”หลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง)มหาดุริยกวีแห่งลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์”(อานันท์ นาคคง,อัษฎาวุธ สาคริก 2544) ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ความรุ่งเรือง ของดนตรีไทยในยุครัชกาลที่ห้า จนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า ในสมัยนั้น หากมีงานมหรสพต่างๆ เช่น งานศพ งานโกนจุก ก็จะมีการจ้างวงดนตรีไปเล่นหลายวง ซึ่งนอกจากแต่ละวงจะเล่นดนตรีตามหน้าที่ที่ได้รับการจ้างวานมาแล้ว ยังต้องมีการประชันฝีมือกันอีกด้วย การประชันวงนั้น จะวัดกันที่คนตีระนาดเอก ว่าจะสามารถรับส่งเพลงได้เก่งแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการประชันด้วยเพลงเดี่ยว หรือเพลงเชิด ด้วยแล้ว นับเป็นการต่อสู้ที่ชี้วัดความสามารถของนักระนาดอย่างมาก
        อีกทั้ง ในสมัยนั้น เจ้านายพระองค์ต่างๆ นิยมชุบเลี้ยงครูดนตรีไทย และนักดนตรีไทยที่มีความสามารถ เพื่อนำมาประชันขันแข่งกัน ทำนองว่า ใครมีดี ก็เอาดีไปอวดกัน การประชันระนาดแต่ละครั้ง มีเชื้อพระวงศ์และประชาชนมาคอยชมจำนวนมาก หากใครชนะก็จะมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว ความคึกคักของวงการดนตรีไทยในยุคนั้น จึงถือได้ว่าเฟื่องฟูถึงขีดสุด
        อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านผู้นำของประเทศในสมัยนั้น คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีความเห็นว่า ต้องเร่งปรับปรุงสภาพของประชาชนไทยและสังคมไทยให้ทัดเทียมมิตรประเทศ ท่านผู้นำเห็นว่า ดนตรีไทยนั้นเป็นเรื่องล้าสมัย เป็นที่น่าอับอายแก่มิตรประเทศ จึงได้ออกกฎห้ามเล่นเครื่องดนตรีไทยบางชนิดทั่วประเทศ จะเล่นได้แต่ดนตรีสากลเท่านั้น แม้แต่จะแอบเล่นภายในบ้านก็ไม่ได้ หากมีเสียงดังออกไปก็จะมีความผิด ทำให้นักดนตรีไทยหลายคนในยุคนั้น ถึงกับหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ในช่วงเวลาดังกล่าว“หลวงประดิษฐ์ไพเราะ”ได้แต่งเพลงเถาไว้เพลงหนึ่งนั่นคือเพลง “แสนคำนึง”ด้วยความรู้สึกโทมนัสต่อคำสั่งห้ามเล่นดนตรีไทย และยังมีเนื้อร้องระบายความเคียดแค้นที่ถูกห้ามเล่นดนตรีไทยอีกด้วย สำหรับเพลง “แสนคำนึง” นี้ ในปัจจุบันถือเป็นเพลงอมตะที่มีความไพเราะและงดงามมากเพลงหนึ่ง


ปัจจุบันและอนาคต
        แม้ว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา กระแสวัฒนธรรมตะวันตกจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปอย่างมากมาย ดนตรีสากลกลายเป็นดนตรีกระแสหลักของสังคม จนกระทั่งคนจำนวนมากมีทัศนะต่อดนตรีไทยว่าเป็นเรื่องของคนหัวโบราณหรือพวกอนุรักษ์นิยมเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าดนตรีไทยจะไม่ได้มีความเฟื่องฟูเหมือนเช่นยุคก่อน แต่ดนตรีไทย ก็ยังเป็นดนตรีประจำชาติ ที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง อาจารย์บำรุง มองสถานการณ์ของดนตรีไทยในปัจจุบันว่า ไม่ได้ตายหรือหายไปจากสังคมไทยเลย เพียงแต่ได้เปลี่ยนรูปไปอยู่ในระบบการศึกษามากกว่าที่จะเป็นดนตรีอาชีพเหมือนเมื่อก่อน โดยที่สถาบันการศึกษาทั้งของภาครัฐ และของเอกชน มากมายหลายแห่ง ก็มีผู้ให้ความสนใจเรียนมากพอสมควร แม้จะไม่อาจเทียบได้กับดนตรีสากลก็ตาม
        “...ต้องขอกล่าวว่า องค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ในเรื่องของดนตรีไทย และเป็นแบบอย่างในเรื่องของดนตรีไทย ในการอนุรักษ์ศิลปะให้กับเยาวชน ให้กับคนไทยทั่วประเทศ เมื่อพระองค์ท่านได้มาให้ความสนใจ ก็ทำให้สังคมโดยรมเห็นความสำคัญมากขึ้น ไม่ใช่แค่พระองค์ท่านเท่านั้น แต่รวมถึงทุกๆ พระองค์....หรืออย่าง ผู้ปกครองเองก็มีส่วนสนับสนุนเยอะมาก หลายท่านเห็นคุณค่าของดนตรีไทย ในปัจจุบันสื่อก็ให้ความสนใจเยอะ นำมาเผยแพร่เยอะ อย่างเช่นเวลาที่มีการถ่ายทอดทางทีวี จะเห็นว่าสมเด็จพระเทพฯ ทรงระนาดนำกับวงต่างๆ เวลามีการประชันขันแข่งกันของวงต่างๆ สมเด็จพระเทพฯ ท่านก็เสด็จไป มีการถ่ายทอดสด แล้วแต่ละปีก็มีงานดนตรีไทยมัธยมศึกษา ดนตรีไทยอุดมศึกษา จนกระทั่งในปัจจุบันมีดนตรีไทยประถมศึกษา มีการรวมกลุ่มกันในแต่ละโรงเรียน คือมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไม่หาย รับรองว่า ไม่หาย แต่รูปลักษณ์หรือรูปแบบอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ในแง่ของการเป็นสำนักต่างๆ จะลดน้อยลง แล้วจะปรับเปลี่ยนมาเป็นดนตรีในสถานศึกษามากขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุด จากสำนักดนตรีก็จะปรับเปลี่ยนเป็นมูลนิธิ เป็นองค์กร เป็นชมรม... อันที่จริงแล้ว ครูดนตรี แล้วก็เครื่องดนตรีไทย ตอนนี้ค่อนข้างจะขาดแคลนด้วยซ้ำไป เพราะมีผู้ให้ความสนใจกันมาก... ” ต่อคำถามที่ว่า วงการดนตรีไทย มีโอกาสจะกลับไปเฟื่องฟูมีการประชันระนาดกันอย่างถึงพริกถึงขิงดังเช่นในยุครัชกาลที่ห้า รัชกาลที่หก อีกหรือไม่นั้น อาจารย์บำรุง ให้ความเห็นว่า ก็อาจจะเป็นไปได้ หากมีผู้ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง แต่ในตอนนี้ หากจะถามถึงการประชันระนาดแล้ว ก็จะเห็นว่า ไม่ได้มาประชันขันแข่งกันดังเช่นเมื่อก่อน แต่จะเป็นการมาแสดงความสามารถกันมากกว่า “...ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดง เป็นการมาบรรเลงเพื่อความสามัคคี การประชันกันเพื่อความเป็นเลิศจะลดน้อยลงไป เพราะถ้าจะจริงๆ จังๆ กันแบบนั้น มันแตกแยกกันได้เหมือนกัน...”


ลาโรง
        เสียงระนาด ที่ประสานไปกับเสียงเปียนโน ในช่วงต้นของ “โหมโรง” อาจจะเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับหลายคนที่ไม่เคยได้ยิน แต่นั่นนับเป็นหนึ่งในยุคแรก ๆ ของการนำเครื่องดนตรีไทยมาประยุกต์กับเครื่องดนตรีสากล ดังเช่นในปัจจุบันที่เราเห็นได้จากวงบอยไทย,วงยกรบ หรือวงฟองน้ำ หลายคนที่รักดนตรีไทยอาจไม่ชอบ แต่หลายคนก็เห็นว่า นี่เป็นการนำดนตรีไทยมาทำให้เกิดความร่วมสมัย คนรุ่นใหม่สามารถเข้าใจ และเสพได้ง่ายขึ้น และอาจชักจูงให้คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง หันมาสนใจดนตรีไทยมากยิ่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ทำนองเพลงดั้งเดิมอันเป็นรากเหง้าของดนตรีไทย ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้
        ผู้ที่สนใจจะเรียนระนาด ไม่ว่าจะเป็นด้วยความสนใจส่วนตัวหรือได้แรงบันดาลใจจากไหนก็ตาม จึงควรจะมองให้เห็นถึง เอกลักษณ์และจิตวิญญาณของดนตรีไทย มากกว่าจะมองว่าเป็นเพียงความโก้เก๋ เนื่องจากเป็นเครื่องดนตรีที่โดดเด่นที่สุดเมื่ออยู่ท่ามกลางเครื่องดนตรีชิ้นอื่น เพราะไม่ว่าเครื่องดนตรีใด ก็ล้วนแต่มีความสำคัญ จริงอยู่ที่“ระนาดเอก”คือพระเอกของวง แต่ก็เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นให้ดีได้ยากที่สุดเช่นกัน คนเรียนจะต้องใช้ความเพียรพยายามสูงยิ่ง ดังนั้น แม้ว่าใครๆ ก็อาจฝึกได้ แต่น้อยยิ่งกว่าน้อย ที่จะตีได้ดี
        ใครๆ ก็รู้จักระ
นาด แต่จะมีสักกี่คน ที่มองเห็นและเข้าถึงอานุภาพแห่งเสียง”ระนาด”?

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


kruchamp

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
ศิลปะ