รำโทน

ที่มา : http://www.youtube.com/watch?v=0G1lOiEnvHc



รำโทน บ้านยางโทน ตำบลยางโทน อำเภอหนองม่วง
                รำโทน เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้านยางโทน ตำบลยางโทน อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี หมู่บ้านแห่งนี้
ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ของตำบลยางโทน ห่างจากตัวเมืองลพบุรีไปทางทิศเหนือประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ชาวบ้านใช้
วัดยางโทนสามัคคีสำหรับประกอบศาสนกิจและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
                 การร้องรำโทนของชาวบ้านตำบลยางโทน เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ระหว่างสมัยสงครามโลก
ครั้งที่  ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๘) ชาวบ้านมีการรวมตัวกันในการเล่นรำโทนในงานรื่นเริงหรือในงานพิธี/ประเพณี เช่น
งานลอยกระทง งานสงกรานต์ เป็นการเล่นระหว่างคนหนุ่มสาว เพื่อเกี้ยวพาราสีกัน การรำและการร้องใช้วิธีจดจำต่อๆ กันมา
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงรำโทนที่ตำบลยางโทน พบว่ามีเครื่องดนตรีดังนี้
๑.โทนชาตรี ใช้ตีเป็นเครื่องประกอบจังหวะ
๒.ฉิ่ง ใช้ตีกำกับจังหวะย่อย
๓.ฉาบเล็ก ใช้ตีกำกับจังหวะโดยตีขัดหลอกล้อไปกับบทเพลง
๔.กรับใช้ตีกำกับจังหวะใหญ่
                  นอกจากนี้ยังมีผู้ขับร้องชาย-หญิง และได้ตบมือประกอบระหว่างขับร้องเพลงด้วย สำหรับผู้บรรเลง
นอกจากจะทำหน้าที่บรรเลงเครื่องประกอบจังหวะหน้าทับแล้ว ยังต้องขับร้องไปด้วยทุกเพลง
                   กระบวนการจัดการแสดง ก่อนการแสดงจะเริ่มด้วยการไหว้ครูก่อน เพื่อบูชาครูอาจารย์และ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยมีดอกไม้ ธูปเทียน เหล้า บุหรี่ และ เงินกำนัลครูเป็นกรสักการบูชา ต่อจากนั้นก็เริ่มการแสดง
โดยเริ่มตีโทนเป็นจังหวะหน้าทับ พร้อมทั้งเครื่องกำกับทั้งหมด นักร้องที่ขับร้องเพลงแรกเป็นผู้เริ่มตั้งจังหวะ
ให้เหมาะสมโดยมีผู้แสดงท่ารำประกอบในแต่ละเพลงเป็นคู่ ๆ ตีบทไปตามเนื้อร้องของเพลง เนื้อหาของเพลง
ส่วนใหญ่เป็นการชักชวนชายหนุ่ม หญิงสาว ให้มารำวงเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน
และจบลงด้วยเพลงลาเป็นอันดับสุดท้าย

บทเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงรำโทน
๑.เพลงรำเสียที่เถิดหนา
๒.เพลงดอกบัวไทย
๓.เพลงเรียมเคยคำ
๔.เพลงชักชวนสาวงาม
๕.เพลงตามองตา
๖.เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด
๗.เพลงหล่อจริงนะดารา
๘.เพลงเดือนดารา
๙.เพลงลา
๑๐.เพลงจากกันแล้วละหนา
ตัวอย่างเพลงร้องรำโทน
            ๑.ชักชวนสาวงาม

             ชักชวนสาวงามมาเล่นฟ้อนรำ ถวายหลวงพ่ออนิจจารูปหล่อ คิ้วต่อกระไรข้างเดียว เอาเรือยนต์เข้ามารับ
ขากลับกระไรน้ำเชี่ยว เดือนสิบสองเดือนเดียวไปเที่ยวที่วัดโสธร (ซ้ำ) ไปกันละจ๊ะ ฉันกลัวจะไม่แน่นอน
ไปไหนเล่าหล่อน วัดโสธรที่เราเคยไป (ซ้ำ)
              ๒.จากกันแล้วละหนา
              จากกันแล้วละหนา
              ฉันขอลาไปก่อน
              จำใจจะต้องจากจร
              อย่าอาวรณ์เร่าร้อนฤทัย
              หากแม้ว่ามีความดี
              โอกาสมีมาสนุกกันใหม่
               ขอวอนองค์พระนารายณ์
               จงให้มีความสุขเอย
                การแต่งกายของชาวบ้านตำบลยางโทน อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี
ในสมัยก่อนจะแต่งกาย
ตามสมัยนิยมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชายสามกางเกง เสื้อคอกลมหรือเสื้อปกเชิ้ตแขนยาวหรือแขนสั้นก็ได้
สวมหมวก สวมรองเท้า หรืออาจจะแต่งกายตามสภาพของท้องถิ่น หญิงสวมประโปรงสุ่มหรือกระโปรงย้วย
ใส่เสื้อแขนโป่งผูกโบว์ที่เอว สวมหมวกสวมรองเท้า หรืออาจจะแต่งกายแบบตามสภาพท้องถิ่น  ปัจจุบันผู้แสดงรำโทน
ได้พยายามคงรักษา รูปแบบเอกลักษณ์ไทยไว้ และมีการประยุกต์เครื่องแต่งกายให้สอดคล้องกับการประชาสัมพันธ์
จังหวัด ลพบุรีชายสามโจงกระเบน เสื้อคอกลมสีพื้น คาดผ้าคาดเอว หญิงสวมโจงกระเบน เสื้อคอกลมลายดอกทานตะวัน
ทัดดอกไม้คาดผ้าคาดเอว

เก็บข้อมูล ณ จังหวัดลพบุรี เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘
โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี

ที่มา : http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/performing-arts/236-performance/282-----m-s

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


krukob

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
ศิลปะ