เฟื้อ หริพิทักษ์

news_img_119215_3.jpgnews_img_119215_4.jpg

ข้าพเจ้าทำศิลปะด้วยใจรัก เลื่อมใส และจริงใจ มิได้ทำไปเพราะใยแห่งอามิส'

 '...สิ่งที่โน้มใจให้ข้าพเจ้าชื่นชมเขายิ่งขึ้น คือภาพวาดเส้นอันพิสดารหาตัวจับได้ยาก และโดยเหตุที่ว่า การวาดเส้นเป็นไวยากรณ์ของศิลปะประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงมั่นใจว่า วันหนึ่งเด็กหนุ่มผู้นี้ (เฟื้อ หริพิทักษ์) จะกลายเป็นศิลปินที่แท้จริงขึ้นมาได้...' ศ.ศิลป์ พีระศรี   

 “ลายเส้นแกดูง่ายๆ สบาย แต่อารมณ์ น้ำหนัก มันได้หมด เส้นที่เขียนทุกเส้นมีชีวิต มันเป็นอิสระมาก เส้นมันหยุดตรงที่ควรหยุด เป็นธรรมชาติมาก อ้ายความง่ายๆ นี่มันแสดงว่าฝึกมาเยอะมาก” อวบ สาณะเสน

 '...จิตรกรไทยคนแรกที่เขียนอิมเพรสชั่นนิสม์ ก็คือเฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านผู้นี้เป็นศิลปินเต็มตัว และกล้าทำงานแปลกๆ ใหม่ๆ ซึ่งสมัยนั้นเขาเรียกว่าแหกคอก งานของเฟื้อฉายแววให้เห็นถึงความจัดเจนในด้านสีและเทคนิคการเขียนแบบฉับพลัน...'  น. ณ ปากน้ำ  

 เมื่อวันศุกร์ที่ 22 เดือนเมษายน ปีจอ พ.ศ.2453 เวลาก่อนเพล บนแพ ณ ปากคลองราษฎร์บูรณะ หน้าพระอุโบสถวัดราษฎร์บูรณะ ธนบุรี ท่านอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ (สกุลเดิม ทองอยู่) ได้ถือกำเนิด มีบิดารับราชการอยู่ในตำแหน่งมหาดเล็กกรมช่าง และมารดาที่สืบมาจากเมืองช่างฝีมือ(เพชรบุรี)

 เนื่องเพราะทั้งบิดาและมารดาท่านถึงแก่กรรมจากท่านไปตั้งแต่ยังเล็ก ท่านจึงได้มาอยู่ภายใต้การอุปการะของคุณยายทับทิม ซึ่งเล่าให้ฟังว่าแต่เดิมตัวยายเองถ่อเรือมาค้าขายจากเมืองเพชรบุรี  ในตอนนั้นมีนิวาสสถานอยู่บริเวณหลังวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ

 ตามคำให้สัมภาษณ์ของอาจารย์เฟื้อนั้นท่านเล่าว่าชอบเดินไปตามทางที่นำไปสู่ตัวโบสถ์วัดสุทัศน์เทพวราราม มีต้นไม้ ดอกไม้ขึ้นรายทาง สวยเหมือนอยู่บนสวรรค์ จิตรกรรมฝาผนังงดงามมาก นับเป็นจุดเริ่มต้นทางสิ่งแวดล้อมที่ปลุกให้ท่านสนใจในเรื่องราวทางศิลปะและวัฒนธรรม

 ไม่ว่าจะเป็นที่สำนักเรียนต่างๆ ในเมืองไทย จนถึงศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย นครแห่งศิลปะต่างในประเทศอิตาลี และยุโรป จวบจนเมื่อท่านเองแลเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะไทย ก็ได้อุทิศเวลาทั้งชีวิตให้กับการศึกษาค้นคว้าและคัดลอกลายตามวัดวาอารามต่างๆ แทบทั่วราชอาณาจักร

 ศักยภาพการสร้างสรรค์งานศิลปะของอาจารย์เฟื้อ สะท้อนด้วยรางวัลเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติถึง 3 ครั้ง ซึ่งหากเดินหน้าทำงานจิตรกรรมสมัยใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีที่สงสัยว่าเป็นศิลปินระดับโลกซึ่งจะตามมาด้วยประสบความสำเร็จทางด้านสินจ้างรางวัล แต่ทว่าอาจารย์เฟื้อ กลับหันหลังให้กับการแสวงหาชื่อเสียงเงินทอง แต่กลับทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับงานอนุรักษ์จิตรกรรมไทย


 ในระยะแรกศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้เป็นอาจารย์รู้สึกเสียดายศักยภาพอันเอกอุของอาจารย์เฟื้อในฐานะจิตรกรผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ และเคยทัดทานว่างานอนุรักษ์ไม่ใช่งานสร้างศิลปะแต่เป็นการศึกษาวิจัยมากกว่า แต่ในที่สุดเมื่อเห็นงานค้นคว้าทางด้านการอนุรักษ์ภาพจิตกรรมฝาผนังของอาจารย์เฟื้อ ศาสตราจารย์ศิลป์จึงยอมรับว่า “เธอมีสองอย่าง” จนหันมาคล้อยตามและให้การสนับสนุนงานอนุรักษ์จิตรกรรมไทยของอาจารย์เฟื้อในเวลาต่อมา

 อาจารย์เฟื้อสรุปเป็นถ้อยคำอย่างรัดกุมกินใจไว้ในชีวิตช่วงหลังๆ ว่า “ข้าพเจ้าทำศิลปะด้วยใจรัก เลื่อมใส และจริงใจ มิได้ทำไปเพราะใยแห่งอามิส ข้าพเจ้าทำศิลปะเพื่อศึกษาค้นคว้าหาความจริงในความงามอันเร้นลับอยู่ภายใต้สภาวะธรรม” 

 ผลงานการคัดลอกอนุรักษ์ไว้ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังหอไตรวัดระฆังโฆษิตาราม พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ วัดสุทัศน์ วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี ลายเส้นวัดศรีชุม สุโขทัย ลายซุ้มเรือนแก้ว วัดมหาธาตุ อยุธยา ลายพระอดีตพุทธเจ้า ที่วัดราชบูรณะ อยุธยา และที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว เชียงใหม่ฯลฯ ซึ่งตัวผู้คัดลอกกับทั้งทำการอนุรักษ์เองยืนยันในความสำคัญของสิ่งเหล่านี้เอาไว้ว่า “สมัยก่อนโน้นที่พวกฝรั่งเข้ามาเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ มันดูถูกว่าของเราเป็นงานประดับ เป็นแค่ลวดลายสวยงาม ไม่ใช่งานศิลปะ ไม่มีชิวต ผมเลยค้นคว้าเพื่อพิสูจน์ว่างานของไทยมีคุณค่าทางศิลปะ หากเราแยกให้ถูกว่า ส่วนใดที่เป็นของดี ในจำนวนผลงานของช่างหลายๆ คน”

 ช่วงปลายวัย อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ได้มอบผลงานชิ้นสำคัญทิ้งไว้ ด้วยการฟื้นฟูบูรณะหอไตรวัดระฆังโฆสิตาราม และภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้กับคนไทยและโลกทั้งมวล

 พุทธศักราช 2553 ที่มาถึงนี้ นับเป็นวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดโครงการ 'หนึ่งศตวรรษชาตกาล อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ พ.ศ.2553' เพื่อถือเอาวาระโอกาสอันสำคัญหนึ่งศตวรรษชาตกาลของท่านอาจารย์เฟื้อ ทำกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ชีวิตและผลงานของท่านอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ มิให้ถูกหลงลืมหรือสูญหาย ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สืบสายมรดกศิลป์ที่อาจารย์เฟื้อได้สร้างไว้ และเพื่อปลุกสำนึกของคนร่วมสมัยให้เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ศิลปกรรมของไทย ด้วยการแสดงผลงานนิทรรศการภาพศิลปะและผลงานของอ.เฟื้อ หริพิทักษ์ การแสดงผลงานนิทรรศการภาพศิลปะอิทธิพลของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ที่มีต่อลูกศิษย์ลูกหา

 'นิทรรศการ 100 ปี ชาตกาล เฟื้อ  หริพิทักษ์' จัดแสดงวันนี้ - 30 มิถุนายน 2553 ณ ห้องแสดงนิทรรศการชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมกิจกรรมพิเศษในวันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน เวลา14.00-17.00 น. มีการแสดง กวี ดนตรี โดย Thaipoet Society, แหล่ชีวิตอาจารย์เฟื้อ โดย สีแพร เมฆาลัย ฯลฯ/19 มิถุนายน 14.00 น. ฟังการบรรยาย เรื่อง 'งานอนุรักษ์จิตรกรรมไทยของ เฟื้อ หริพิทักษ์' โดย สุรศักดิ์ เจริญวงศ์ อาจารย์ภาควิชาศิลปะไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร/27 มิถุนายน 15.00-17.00 น. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แสดงปาฐกถาพิเศษ 'เฟื้อ หริพิทักษ์ ในมิติทางการเมือง' และทุกวันเสาร์ระหว่างการแสดงนิทรรศการมีสาธิตการอนุรักษ์ศิลปกรรมไทยและงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง โดยนักศึกษาจากเพาะช่าง สอบถามเพิ่มเติมโทร.0-2438-9331

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


thanet

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
ศิลปะ